วันเสาร์ที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2553

บทความ : แตกต่างแต่ไม่แตกแยก

แตกต่างแต่ไม่แตกแยก
คณิตศาสตร์เป็นวิชาที่นักเรียนส่วนใหญ่มองว่ายาก(มาก) น่าเบื่อ แต่ถึงอย่างไรก็ตามนักเรียนเหล่านั้นก็ต้องเรียนคณิตศาสตร์โดยหลีกเลี่ยงไม่ได้ นักเรียนกลุ่มนี้ครูเองมีหน้าที่สอนและหาวิธีการสอนที่ทำให้นักเรียนเหล่านั้นชอบคณิตศาสตร์และมองคณิตศาสตร์ว่าเป็นเรื่องง่าย แต่อีกมุมหนึ่งก็มีเด็กนักเรียนบางคนที่ชอบคณิตศาสตร์มาก เรียนอย่างมีความสุข มองว่าเป็นเรื่องง่าย อยากให้ครูสอนเฉพาะเรื่องยากๆ และสอนเร็วๆ นักเรียนกลุ่มนี้ครูต้องส่งเสริมและพัฒนา ซึ่งท่านๆที่เป็นครูและสอนคณิตศาสตร์ก็คงจะเจอเหตุการณ์ลักษณะนี้ ที่ในห้องเรียนขนาดใหญ่มีทั้งนักเรียนชอบ ไม่ชอบ เก่งและไม่เก่ง ครูผู้สอนเองมีความสุขมากเวลาสอนนักเรียนเก่งเพราะอธิบายเล็กน้อยให้แนวทางนิดหน่อย นักเรียนก็จะเข้าใจ แต่ขณะเดียวกันครูก็จะมีความทุกข์มากกับนักเรียนกลุ่มอ่อนเพราะสอนและอธิบายยังไงก็ยังไม่เข้าใจ ส่งผลให้ทั้งครูและนักเรียนไม่มีความสุขระหว่างเรียน ความแตกต่างระหว่างนักเรียนในห้องเรียนที่มีความรู้ไม่เท่ากัน ความชอบ ไม่ชอบต่างกันเป็นปัญหาสำคัญสำหรับการจัดการเรียนการสอนในห้องเรียนมาก ในเมื่อเราเป็นครูไม่สามารถเลือกสอนนักเรียนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้ในเวลาเดียวกัน ฉะนั้นวิธีการสอนสำหรับนักเรียนที่มีความแตกต่างกันจะเป็นแนวทางหนึ่งให้นักเรียนทั้งสองกลุ่มเรียนร่วมกันอย่างมีความสุข ข้าพเจ้าจึงขออนุญาตนำเสนอแนวคิดสำหรับการแก้ปัญหาเหล่านี้

ผู้สอนจะต้องใช้กลวิธีการสอนหลายรูปแบบ เช่น สอนแบบบรรยาย และอธิบายเนื้อหาใหม่สำหรับ นักเรียนทั้งชั้น แบ่งกลุ่มย่อยให้มีนักเรียนเก่ง ปานกลาง และอ่อนอยู่ในกลุ่มเดียวกัน เลือกแบบฝึกหัดที่มีความยากง่ายพอสมควรให้ช่วยกันทำครูคอยให้คำแนะนำช่วยเหลือมอบหมายงานพิเศษโจทย์เพิ่มเติม โจทย์แบบฝึกหัดที่ยากซับซ้อนขึ้นให้นักเรียนเก่งทำหรือค้นคว้าเพิ่มเติม ส่วนนักเรียนปานกลางและอ่อนอาจจะต้องมีการอธิบายเพิ่มเติม หรือสอนเสริม ซึ่งอาจสอนโดยครู หรือ เพื่อนสอนเพื่อน แบบฝึกหัดที่ได้ควรจะจากง่ายไปยาก ให้ฝึกซ้ำๆหลายๆข้อจนชำนาญ การเรียนการสอนจะได้ผลสูงสุดก็ต่อเมื่อนักเรียนให้ความร่วมมือ มีส่วนร่วมในกิจกรรม ครูจะต้องพยายามกระตุ้นให้นักเรียนตระหนักในความสามารถของตนเองให้พยายามปรับตัว และพัฒนาตามศักยภาพของแต่ละบุคคล พยายามหลีกเลี่ยงที่จะทำให้นักเรียนเกิดความล้มเหลว ให้นักเรียนได้ทำงานตามระดับความสามารถ ให้ความสำคัญและเห็นคุณค่าของนักเรียนทุกคน อย่ามุ่งแต่ชื่นชม ชมเชยแต่นักเรียนที่เก่งจนทอดทิ้งหรือทับถมให้นักเรียนอ่อนเสียกำลังใจ ครูควรจะให้ความช่วยเหลือ แนะนำนักเรียนเป็นพิเศษเกี่ยวกับวิธีการศึกษา ค้นคว้า การใช้ตำราเรียนคู่มือ การค้นคว้าข้อมูลต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมความก้าวหน้า พัฒนาทักษะของผู้เรียน หาเวลาพบปะพูดคุยกับนักเรียนเป็นรายบุคคล เพื่อสำรวจปัญหาและหาแนวทางในการช่วยเหลือ จัดเวลาให้คำแนะนำปรึกษาสำหรับวิชาคณิตศาสตร์การเรียนการสอนจะต้องยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ให้นักเรียนมีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนการสอนตามระดับความสามารถของแต่ละคน เปิดโอกาสให้นักเรียนเก่งอภิปรายหรือตอบคำถามที่ค่อนข้างยาก ให้นักเรียนอ่อนตอบคำถามที่ค่อนข้างง่าย ใช้สื่อการสอนให้เหมาะสมนอกจากกิจกรรมการเรียนการสอนในชั้นเรียนแล้วครูอาจจัดห้องปฎิบัติการทางคณิตศาสตร์ จัดสิ่งแวดล้อมที่จะจูงใจให้ผู้เรียนใฝ่เรียน อยากรู้อยากเห็น สนใจในวิชาคณิตศาสตร์มากยิ่งขึ้น สิ่งแวดล้อมมีอิทธิพลยิ่งต่อการเรียนรู้ ห้องปฏิบัติการคณิตศาสตร์เป็นสถานที่ที่ใช้สำหรับปฏิบัติการทางคณิตศาสตร์ เป็นปฏิบัติการเพื่อการเรียนรู้คณิตศาสตร์ เป็นกระบวนการและเป็นวิธีการในการเรียนคณิตศาสตร์ให้เกิดความคิดรวบยอด ผู้เรียนจะต้องศึกษาคณิตศาสตร์จากสื่อการเรียนทั้งหลาย ได้แก่ ตำรา หุ่นจำลอง แผนภาพ เอกสารสิ่งพิมพ์ แผ่นโปร่งใส สไลด์ ฟิล์มสตริป เทปบันทึกเสียง ภาพยนตร์ เครื่องคำนวณ เครื่องช่วยสอน ฝึกทักษะโดยการทำ แบบฝึกหัด แก้ปัญหา เล่นเกมต่าง ๆ การเรียนรู้ลักษณะนี้ทำให้ผู้เรียนได้ทำกิจกรรมด้วยตนเอง การปฏิบัติการทางคณิตศาสตร์ใช้ได้กับผู้เรียนทุกระดับความสามารถ ผู้เรียนมีโอกาสฝึกและพัฒนาความ สามารถในการเรียนตามศักยภาพของแต่ละบุคคล วิชาคณิตศาสตร์เป็นวิชาที่เกี่ยวกับความคิด เป็นโครง สร้างที่มีเหตุผล มีความเป็นนามธรรมสูง เป็นวิชาทักษะต้องใช้ความรู้ต่อเนื่องกันเสมือนลูกโซ่ เนื้อหาใน เรื่องหนึ่งอาจนำไปใช้ในเรื่องอื่นๆต่อไป พื้นฐานความรู้ต้องต่อเนื่องกัน ข้อจำกัดหรือข้อบกพร่องในการ เรียนการสอนในแต่ละระดับหรือแต่ละหัวเรื่องย่อมมีผลกระทบต่อการเรียนรู้ในระดับต่อ ๆ ไป การสอน คณิตศาสตร์ไม่ควรเป็นเพียงการบอกให้จดจำและเลียนแบบเท่านั้น ควรมุ่งเน้นให้ผู้เรียนเรียนด้วยความ เข้าใจ สอนแนวคิด ให้ผู้เรียนได้คิดตามเป็นลำดับขั้นตอน มีเหตุผล และยังต้องมุ่งให้ผู้เรียนเกิดทักษะต่าง ๆ เช่นทักษะในการคิดคำนวณ ทักษะในการแก้ปัญหา มีความชำนาญ แม่นยำและรวดเร็ว เกิดความมั่นใจ ท้าทาย สนุกกับการเรียน มีเจตคติที่ดีต่อการเรียนคณิตศาสตร์การที่ผู้เรียนจะได้รับ ประโยชน์สูงสุดจากการเรียนคณิตศาสตร์ทั้งครูผู้สอนและผู้เรียนจะต้องรู้และเข้าใจถึงธรรมชาติของวิชา ผู้เรียนต้องเรียนรู้ ทำความเข้าใจ และยังต้องฝึกทักษะจนชำนาญ การฟังเพียงพอให้เข้าใจ ไม่ช่วยให้ การเรียนประสบความสำเร็จได้ ครูผู้สอนจะต้องพัฒนาการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพ การเลือกใช้วิธีการสอนให้เหมาะกับเนื้อหา เวลา และกลุ่มผู้เรียนเป็นเรื่องสำคัญ ไม่มีวิธีการสอนใดดีที่สุด ต้องผสมผสานวิธีการสอนแบบต่าง ๆ และที่สำคัญยิ่งจะต้องคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล (Individual differences) ควรส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถคิดอย่างอิสระ เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้มีทางเลือกในการฝึกทักษะ การมีตัวอย่างแนวคิดที่สามารถศึกษาได้ซ้ำ ๆ หรือศึกษาได้ตามสภาพความพร้อมของแต่ละบุคคลการเรียนรู้บนเครือข่ายระบบE – learning เป็นทางเลือกหนึ่งที่ผู้เรียนสามารถใช้ในการเรียนรู้เพิ่มเติมหรือศึกษาซ้ำ ๆ ได้ด้วยตนเองตามความพร้อมและตามศักยภาพของแต่ละบุคคล

โดย นางสาววรรณธนากร อังฉะกรรณ์ วท.คศ.4

วันศุกร์ที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2553

บทความคณิตศาสตร์ : สิ่งสำคัญในการสอนคณิตศาสตร์

สิ่งสำคัญในการสอนคณิตศาสตร์ให้สำเร็จ

จากความหมายของหลักการสอนคณิตศาสตร์ที่ว่า “ หลักการสอนคณิตศาสตร์ หมายถึง สอนเมื่อนักเรียนมีความพร้อม สอนตามลำดับขั้นตอน จากง่ายไปหายาก จากรูปธรรมไปสู่นามธรรม ใช้วิธีสอนที่หลากหลาย ใช้วิธีอุปนัยในการสรุปหลักเกณฑ์ของบทเรียนและนำความรู้ไปใช้โดยวิธีนิรนัย นักเรียนควรมีส่วนร่วมในบทเรียน ส่งเสริมให้นักเรียนรู้จักการทำงานตามความสามารถ”
ข้อความข้างต้นจะเห็นว่าถ้าจะจัดกระบวนการเรียนการสอนในวิชาคณิตศาสตร์ให้ได้ผลสำเร็จนั้น ครูผู้สอนจะต้องรู้ถึงระดับความรู้ของการเรียนคณิตศาสตร์ของนักเรียนแต่ละคนก่อนเป็นลำดับแรก ซึ่งระดับความรู้ของการเรียนคณิตศาสตร์นั้นสามารถแบ่งได้ 3 ระดับ ดังนี้

1. ระดับความรู้ขั้นพื้นฐาน (Empirical Knowledge) ขั้นนี้มีความรู้คณิตศาสตร์พื้นฐานเพียงพอที่จะใช้งานในชีวิตประจำวัน หรือสถานการณ์ที่คุ้นเคย แต่ไม่สามารถประยุกต์ความรู้พื้นฐานที่มีมาใช้กับโจทย์ที่ไม่คุ้นเคย หรือโจทย์ที่พลิกแพลงได้ ยกเว้นว่าจะพัฒนาให้มีความรู้ทางคณิตศาสตร์ที่สูงขึ้น โดยสนับสนุนให้สร้างจินตนาการเชื่อมโยงความรู้พื้นฐานเข้ากับสิ่งที่พบเห็นในชีวิตประจำวันให้มากขึ้น

2. ระดับความรู้ขั้นที่สอง (Scientific Knowledge) ขั้นนี้สามารถสร้างจินตนาการทางคณิตศาสตร์” รู้จักนำเหตุการณ์ในชีวิตประจำวันหรือสิ่งที่พบเห็นรอบตัวมาเชื่อมโยงกับความรู้ทางคณิตศาสตร์ได้ มีความสามารถในเชิงคิดวิเคราะห์และประยุกต์ความรู้เพื่อตอบโจทย์ที่ซับซ้อน พลิกแพลงได้ คนที่เรียนต่อในคณะวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ หรือแพทยศาสตร์ จะต้องมีระดับความรู้ทางคณิตศาสตร์อยู่ในขั้นนี้ และถ้าได้รับการพัฒนาต่อในทางที่ถูกต้องก็จะนำไปสู่กลุ่มที่เรียกว่า “นักคิดทางคณิตศาสตร์” ต่อไป

3. ระดับความรู้ขั้นที่สาม (Intuition Knowledge) หรือกลุ่มที่เรียกว่า “นักคิดทางคณิตศาสตร์ คนกลุ่มนี้มีความสามารถที่จะเข้าใจเหตุผลได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องอาศัยข้อมูลจากคนอื่น เช่น นักเรียนที่ไปแข่งขันวิชาการโอลิมปิก
จากสิ่งที่กล่าวข้างต้นจะเห็นว่า ระดับความรู้ทางคณิตศาสตร์ทั้ง 3 ขั้นนี้มีความแตกต่างกันที่ “จินตนาการ” สิ่งที่สามารถบอกถึงจินตนาการ ของนักเรียนแต่ละคนได้ก็คือ คำตอบที่ได้จากปัญหาทางคณิตศาสตร์ เช่น “ 9 ´ 10 มีความหมายว่าอะไร ” หรือ “แบ่งขนม 6 ชิ้นให้คน 7 คนเท่าๆ กัน คิดว่าจะแบ่งอย่างไร ”
(ค้นมาฝาก : ลักษณะของปัญหาทางคณิตศาสตร์มี 2 แบบ คือ 1. Problem Solving คือ ปัญหาที่มีคำตอบที่ถูกต้องเพียงคำตอบเดียว 2.Problem Parser คือ ปัญหาที่มีคำตอบที่ถูกต้องได้มากกว่าหนึ่งคำตอบ)
เมื่อทราบถึงระดับความรู้ของการเรียนคณิตศาสตร์ของนักเรียนแต่ละคนแล้ว ครูผู้สอนควรที่ศึกษากระบวนการเรียนการสอนที่ทำให้
นักเรียนมีเจตคติที่ดีต่อการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ จึงขอเสนอรูปแบบการสอนซึ่งมี 6 ระดับขั้น ดังนี้
1. ขั้นออกแบบ : ผู้สอนต้องวางแผนและออกแบบกิจกรรมให้สอดคล้องกับเนื้อหาและระดับการเรียนรู้ อย่างรอบคอบกับระดับความพร้อมของนักเรียน เน้นให้นักเรียนได้มีส่วนร่วม สนุกสนานในการเรียน มีทักษะทางคณิตศาสตร์ในด้านต่างๆ
2. ขั้นนำ : ต้องสร้างบรรยากาศ การเรียนการสอนเป็นไปอย่างสนุกสนาน ส่งเสริมให้นักเรียนมีเหตุผล สร้างความสามัคคี
3. ขั้นสอน : ครูผู้สอนต้องสอนจากสิ่งที่ง่าย ไปสู่สิ่งที่ยาก ครูผู้สอนไม่ควรเน้นที่
ใบงาน ใบกิจกรรมมากจนเกินไป ครูผู้สอนควรเป็นผู้ที่คอยแนะนำ ให้คำปรึกษาไม่ใช่ผู้บอกทั้งหมด ครูผู้สอนต้องให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการเรียน เปิดโอกาสให้นักเรียนได้แสดงทัศนคติและ นำสื่อการเรียนการสอนต่าง ๆ มาใช้ประกอบการสอนและควรเป็นสื่อที่ครูผู้สอนผลิตเอง
หรือให้นักเรียนร่วมกันผลิตสื่อ โดยเน้นการใช้วัสดุที่หาได้ง่าย อาจใช้ของจริงประกอบด้วยก็ได้
( ค้นมาฝาก : สื่อและอุปกรณ์คณิตศาสตร์ที่จำเป็นในต่อการเรียนการสอนในระดับประถมศึกษาถึงมัธยมศึกษาตอนต้น เช่น นาฬิกาจับเวลา เพื่อช่วยให้สมองซีกซ้ายตื่นตัวพร้อมที่จะรับข้อมูลใหม่ๆ อยู่เสมอและเพื่อดูว่าศักยภาพสูงสุดของเด็กอยู่ ณ จุดใด , ลูกปัดขนาดใหญ่ ใช้สำหรับเรียนเรื่องจำนวน เซต การสอน ครน ., หรม. นอกจากนี้ยังให้เด็กใช้ร้อยเชือกเล่น ช่วยสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อมัดเล็ก , อุปกรณ์สำหรับเขียนเลข 100 ช่อง จะช่วยให้นักเรียนคุ้นเคยกับการมองและสร้างจินตนาการเกี่ยวกับภาพ 2 มิติคือ มิติของความกว้าง และมิติความยาว , บล็อกไม้ จะช่วยให้เกิดจินตนาการเกี่ยวกับภาพ 3 มิติที่มีมิติความลึกเข้ามาเกี่ยวข้อง)
4. ขั้นฝึกหัด : ครูผู้สอนควรกำหนดสถานการณ์ที่สอดคล้องกับเนื้อหาที่เรียน ให้นักเรียนทำเป็นรายบุคคล หรือทำเป็นกลุ่มในแต่ละกลุ่มควรมีการคละความสามารถของนักเรียน ในขั้นนี้อาจให้นักเรียนแต่ละกลุ่ม รวมกลุ่มสร้างสถานการณ์ที่สอดคล้องกับเนื้อหาที่เรียนแล้วออกมานำเสนอหน้าชั้นเรียน
5. ขั้นสรุป : ให้ผู้เรียนซักถามข้อสงสัย เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้แสดงความคิดเห็นในเรื่องที่เรียนไป ครูช่วยชี้แนะ แล้วนักเรียนและครูผู้สอนร่วมกันสรุปเนื้อหาที่ได้เรียนไป หรือให้นักเรียนสรุปเป็นรายบุคคลหรือเป็นกลุ่ม
6. การประเมิน : เน้นการประเมินตามสภาพจริง มีการประเมินที่หลากหลายและควรให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการประเมินด้วย

เนื่องจากรูปแบบการสอนทั้ง 6 ขั้นเป็นรูปแบบกว้าง ๆ ที่ครูผู้สอนสามารถประยุกต์เอาวิธีสอนต่าง ๆ มาใช้เพื่อให้เกิดความเหมาะสมทั้งเนื้อหาวิชาและนักเรียน จากที่ได้กล่าวมาไม่ว่าจะเป็นการศึกษาระดับความรู้ของการเรียนคณิตศาสตร์ , รูปแบบการสอน 6 ขั้นล่วงเป็นเพียงกระบวนการจัดการเรียนการสอนเท่านั้น สิ่งสำคัญ...ถ้าครูผู้สอนขาดองค์ความรู้ในวิชาที่สอนและนักเรียนมีเจตคติที่ไม่ดีต่อวิชาคณิตศาสตร์แล้ว ไม่รู้ว่าจะสร้างจินตนาการไปเพื่ออะไร...




แหล่งอ้างอิง
พ่อธีร์-แม่ภุชงค์. คณิตศาสตร์เรื่องง่ายสอนได้ก่อนอนุบาล. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ:
รักลูกบุ๊ก, 2552
การสอนคณิตศาสตร์ (ออนไลน์) 2553 (อ้างเมื่อ 28 กันยายน 2553). จาก:
http://www.kanid.com/เรื่องเรียนของลูก (ออนไลน์) 2553 (อ้างเมื่อ 24 กันยายน 2553). จาก: http://www/.Raklukegroup
.com

ผู้เรียบเรียง
ที่มา: นายแดน คลังทอง นักศึกษาระดับ วิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาคณิตศาสตรศึกษา เลขที่ 1 ห้อง คศ.4

วันพฤหัสบดีที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

การเปรียบเทียบหลักสูตร44 กับ หลักสูตร51

การกำหนดวิสัยทัศน์...
หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานพุทธศักราช 2544

หลักสูตรไม่ได้กำหนดวิสัยทัศน์ของหลักสูตร สมรรถนะที่สำคัญของผู้เรียนและคุณลักษณะ
อันพึงประสงค์ แต่ได้กำหนดเป็นแนวทางไว้ในเอกสาร แนวทางการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษา

ให้สถานศึกษากำหนดคุณลักษณะอันพึงประสงค์ ตามบริบทของสถานศึกษา

หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานพุทธศักราช 2551
กำหนดวิสัยทัศน์ของหลักสูตร สมรรถนะที่สำคัญของผู้เรียน และคุณลักษณะอันพึงประสงค์
เพื่อเป็นภาพรวมในการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนที่มีความชัดเจนมากขึ้นสำหรับสถานศึกษาทุกแห่ง
ใช้เป็นกรอบทิศทางในการออกแบบหลักสูตรและการจัดการเรียนรู้ให้บรรลุตามมาตรฐานการเรียนรู้
ที่หลักสูตรแกนกลางได้กำหนดไว้

การกำหนดหลักการของหลักสูตร...
หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานพุทธศักราช 2544
กำหนดหลักการของหลักสูตร ดังนี้
1) เป็นการศึกษาเพื่อความเป็นเอกภาพของชาติ มุ่งเน้นความเป็นไทยควบคู่ความเป็นสากล
2) เป็นการศึกษาเพื่อปวงชน ที่ประชาชนทุกคนจะได้รับการศึกษาอย่างเสมอภาพ

และเท่าเทียมกัน โดยสังคมมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา
3) ส่งเสริมให้ผู้เรียนได้พัฒนาและเรียนรู้ด้วยตนเองอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต โดยถือว่าผู้เรียนมีความสำคัญที่สุด

สามารถพัฒนาตามธรรมชาติ และเต็มตามศักยภาพ
4) เป็นหลักสูตรที่มีโครงสร้างยืดหยุ่นทั้งด้านสาระ เวลา และการจัดการเรียนรู้
5) เป็นหลักสูตรที่จัดการศึกษาได้ทุกรูปแบบ ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย
สามารถเทียบโอนผลการเรียนรู้และประสบการณ์

หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานพุทธศักราช 2551
ปรับปรุงหลักการของหลักสูตร เพื่อให้มีความชัดเจน สมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยปรับจากเดิม 5 ข้อ เป็น 6 ข้อ ดังนี้
1) เป็นหลักสูตรการศึกษาเพื่อความเป็นเอกภาพของชาติ มีมาตรฐานการเรียนรู้ เป็นเป้าหมายสำหรับพัฒนาเยาวชน

ให้มีความรู้และคุณธรรมบนพื้นฐานความเป็นไทย ควบคู่กับความเป็นสากล
2) เป็นหลักสูตรการศึกษาเพื่อปวงชน ที่ประชาชนทุกคนมีโอกาสได้รับการศึกษาอย่างเสมอภาค

และมีคุณภาพอย่างเท่าเทียมกัน
3) เป็นหลักสูตรการศึกษาที่ตอบสนองการกระจายอำนาจให้สังคมมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา
ให้สอดคล้องกับสภาพ และ ความต้องการของท้องถิ่น
4) เป็นหลักสูตรการศึกษาที่มีโครงสร้างยืดหยุ่นทั้งด้านสาระการเรียนรู้ เวลา และการจัดการเรียนรู้
5) เป็นหลักสูตรการศึกษาที่เน้นผู้เรียนมีความสำคัญที่สุด

6) เป็นหลักสูตรการศึกษาที่จัดการศึกษาได้ทุกรูปแบบ ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมายสามารถ
เทียบโอนผลการเรียนรู้ และประสบการณ์

การกำหนดจุดหมายของหลักสูตร...
หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานพุทธศักราช 2544
กำหนดจุดหมายของหลักสูตร ดังนี้
1) เห็นคุณค่าของตนเอง มีวินัยในตนเอง ปฏิบัติตามหลักธรรมของพระพุทธศาสนาหรือศาสนาที่ตนนับถือ

มีคุณธรรมจริยธรรม และค่านิยมที่พึงประสงค์
2) มีความคิดสร้างสรรค์ ใฝ่รู้ ใฝ่เรียน รักการอ่าน รักการเขียน และรักการค้นคว้า
3) มีความรู้อันสากล รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงและความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาการ

มีทักษะและศักยภาพในการจัดการการสื่อสาร และการใช้เทคโนโลยี ปรับวิธีการคิด
วิธีการทำงานได้เหมาะสมกับสถานการณ์
4) มีทักษะและกระบวนการโดยเฉพาะทางคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ทักษะการคิด

การสร้างปัญญา และทักษะในการดำเนินชีวิต
5) รักการออกกำลังกาย ดูแลตนเองให้มีสุขภาพและบุคลิกภาพที่ดี

6) มีประสิทธิภาพในการผลิต และการบริโภคมีค่านิยมเป็นผู้ผลติมากกว่าเป็นผู้บริโภค
7) เข้าใจในประวัติศาสตร์ของชาติไทย ภูมิใจในความเป็นไทย เป็นพลเมืองดียึดมั่น

ในวิถีชีวิตและการปกครองในระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
8) มีจิตสำนึกในการอนุรักษ์ภาษาไทย ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี กีฬา ภูมิปัญญาไทย

ทรัพยากรธรรมชาติ และพัฒนาสิ่งแวดล้อม
9) รักประเทศชาติและท้องถิ่น มุ่งทำประโยชน์และสร้างสิ่งที่ดีงามให้สังคม


หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานพุทธศักราช 2551
ปรับจุดหมายของหลักสูตร เพื่อให้มีความชัดเจน สมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยจากจุดหมาย 9 ข้อ เป็น 5 ข้อ ดังนี้
1) มีคุณธรรมจริยธรรม และค่านิยมที่พึงประสงค์ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เห็นคุณค่าของตนเอง

มีวินัยและปฏิบัติตนตามหลักธรรมของพระพุทธศาสนา หรือศาสนาที่ตนนับถือ
2) มีความรู้อันเป็นสากล มีทักษะในการจัดการ ทักษะกระบวนการคิด ทักษะในการดำเนินชีวิต

ทักษะในการสื่อสาร และการใช้เทคโนโลยี
3) มีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดี มีสุขนิสัย และ รักการออกกำลังกาย
4) มีจิตสำนึกในการเป็นพลเมืองไทย และพลโลก ยึดมั่นในวิถีชีวิตและการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
5) มีจิตสำนึกในการอนุรักษ์วัฒนธรรมและภูมิปัญญาไทย การอนุรักษ์และพัฒนาสิ่งแวดล้อม
มีจิตสาธารณะที่มุ่งทำประโยชน์ และสร้างสิ่งที่ดีงามและอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างมีความสุข

โครงสร้างหลักสูตร...
หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานพุทธศักราช 2544
โครงสร้างหลักสูตรกำหนดเป็น 4 ช่วงชั้น ดังนี้
ช่วงชั้นที่ 1 ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-3
ช่วงชั้นที่ 2 ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6
ช่วงชั้นที่ 3 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3
ช่วงชั้นที่ 4 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-6


กำหนดเวลาเรียนของ 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ เป็นเวลารวมไว้เป็นช่วงกว้างๆ ในแต่ละช่วงชั้น เช่น

ช่วงชั้นที่ 1 (ป.1-3)
กำหนดเวลาเรียนทั้ง 8 กลุ่ม ปีละประมาณ 800-1000 ชั่วโมง โดยให้สถานศึกษากำหนดเวลาเรียน

ของแต่ละกลุ่มสาระเองตามความเหมาะสม

หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานพุทธศักราช 2551
โครงสร้างหลักสูตรกำหนดเป็น 3 ระดับ ดังนี้
1) ระดับประถมศึกษา (ป.1-6)
2) ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น (ม.1-3)

3) ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.4-6)

กำหนดเวลาเรียนขั้นต่ำของ 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ในแต่ล่ะชั้นปี และให้สถานศึกษาเพิ่มเติม

ได้ตามความพร้อมและจุดเน้น เช่นกำหนดเวลาเรียนกลุ่มสารการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้น ป.1 จำนวน 200 ชั่วโมง

การกำหนดมาตรฐานการเรียนรู้...
หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานพุทธศักราช 2544
กำหนดมาตรฐานการเรียนรู้ / มาตรฐานการเรียนรู้ช่วงชั้น
1. กำหนดมาตรฐานการเรียนรู้ 76 มาตรฐาน

2. กำหนดมาตรฐานการเรียนรู้ช่วงชั้นโดยกำหนดไว้เป็นช่วงๆ ละ 3 ปี ซึ่งเป็นคุณภาพของผู้เรียนเมื่อจบชั้น ป.3
ซึ่งเป็นคุณภาพของผู้เรียนเมื่อจบชั้น ป. 3 ป.6 ม.3 ม.6 และให้สถานศึกษานำไปเป็นกำหนดผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง
เพื่อใช้เป็นเป้าหมายในการจัดการเรียนรู้ของแต่ละกลุ่มสาระในแต่ล่ะชั้นปีเอง ซึ่งทำให้ขาดเอกภาพ
และมีปัญหาใน การเทียบโอนผลการเรียนรู้

หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานพุทธศักราช 2551
ปรับปรุงมาตรฐานการเรียนรู้และกำหนดตัวชี้วัดชั้นปี / ช่วงชั้น
1. ปรับปรุงมาตรฐานการเรียนรู้ให้มีความชัดเจน ลดความซ้ำซ้อน โดยปรับปรุงจาก 76 มาตรฐาน

ลดลงเหลือ 67 มาตรฐาน
2. กำหนดตัวชีวิดชั้นปีสำหรับการศึกษาภาคบังคับ (ป.1- ม.3) และตัวชี้วัดช่วงชั้นสำหรับ

มัธยมศึกษาตอนปลาย (ม. 4-6 ) เพื่อช่วยให้การจัดการเรียนรู้และการวัดและประเมินผลมีเป้าหมาย
ที่ชัดเจนในแต่ละระดับชั้นรวมทั้งครูผู้สอนสามารถนำไปใช้ในการออกแบบหน่วยการเรียนรู้ได้เลย
ซึ่งเป็นการช่วยลดภาระของครู

การกำหนดกิจกรรม...
หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน 2544
กำหนดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน แบ่งเป็น 2 ลักษณะ คือ
1. กิจกรรมแนะแนว
2. กิจกรรมนักเรียน

หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน 2551
ปรับปรุงกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน โดยเพิ่มกิจกรรมเพื่อสังคมและสาธารณประโยชน์ที่มุ่งเน้น
ให้ผู้เรียนทุกคนทั้งในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ได้ทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์เพื่อส่วนรวม
ซึ่งเป็นการปลูกฝังให้ผู้เรียนมีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ที่กำหนด คือ การมีจิตสาธารณะ
อันจะช่วยให้สังคมเกิดสันติสุข อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข
ดังนั้น ในหลักสูตรแกนกลางฯ จึงได้กำหนดกิจกรรมผู้เรียน เป็น 3 ลักษณะดังนี้
1) กิจกรรมแนะแนว
2) กิจกรรมนักเรียน
3) กิจกรรมเพื่อนสังคมและสาธารณประโยชน์


การวัดผลประเมินผลและการจบหลักสูตร...
หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน 2544
การวัดและประเมินผล และการจบหลักสูตร
1. หลักสูตรกำหลดให้สถานศึกษากำหนดเกณฑ์การจบหลักสูตรเอง รวมทั้งจัดทำแนวทาง

การวัดและประเมินผลตามเกณฑ์ ที่สถานศึกษากำหนด
2. การตัดสินผลการเรียน

- ระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษาตอนต้น ตัดสินผลการเรียนเป็นรายปี
- ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ตัดสินผลการเรียนเป็นรายภาค

หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน 2551
การวัดและประเมินผล และการจบหลักสูตร
1. หลักสูตรแกนกลางฯ กำหนดเกณฑ์กลางการจบหลักสูตร การตัดสินผลการเรียน

การให้ระดับผลการเรียน การรายงานผลการเรียน และเอกสารหลักฐานการศึกษาที่กระทรวงควบคุม
เพื่อให้สถานศึกษาจัดทำแนวปฏิบัติการวัดและประเมินผลการเรียนที่สอดคล้องกับ
หลักเกณฑ์ที่หลักสูตรแกนกลางกำหนด
2. การตัดสินผลการเรียน
- ระดับประถมศึกษา ตัดสินผลการเรียนเป็นรายปี

- ระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและ ตอนปลาย ตัดสินผลการเรียนเป็นรายภาค

กิจกรรมของหลักสูตร(Curriculum Activity)

หลักสูตรประเภทต่างๆจำแนกไปตามคุณลักษณะที่ผู้จัดทำหลักสูตรต้องการเน้น ดังต่อไปนี้

1. เน้นความสามารถเฉพาะอย่าง (Specific Competencies)
การวางหลักสูตรถือว่ามีกิจกรรมที่ผู้เรียนจะต้องกระทำในอนาคตไม่เวลาใดก็เวลาหนึ่ง โดยมีความสัมพันธ์โดยตรงระหว่าง จุดหมาย กิจกรรมการเรียนและสิ่งที่จะทำในอนาคต เช่น การพูดและเขียนเพื่อสื่อความคิดกับบุคคลอื่นๆเป็นวิชาทักษะเบื้องต้น การทำบัชญีสำหรับนักเรียนสายอาชีวศึกษาต้องเรียนวิชาบัญชี การก่อสร้าง หรือการออกแบบ
เป็นต้น

2. เน้นเนื้อหาวิชา (Discipline or Subject)
หลักสูตรประเภทนี้จะเลือกเนื้อหาวิชามาจากองค์ความรู้แล้วจัดให้เป็นขั้นตอนเป็นระบบเพื่อใช้ในการสอนในห้องเรียน ดังนั้นหลักสูตรจึงค่อนข้างตายตัว ไม่เปลี่ยนไปตามความสนใจและความสามารถเฉพาะของผู้เรียน(Subject-matter Centered)

3. เน้นกิจกรรมและปัญหาทางสังคม (Social Activities and Problrms)
หลักสูตรจะตั้งบนรากฐานความเชื่อ 3 ประการ คือ
3.1 หลักสูตรควรเป็นไปตามหน้าที่บุคคลควรจะมีต่อสังคมหรือสภาพชีวิตในฐานะที่เป็นสมาชิกของสังคม
3.2 การจัดหลักสูตรควรคำนึงถึงปัญหาของชีวิตในชุมชน
3.3 โรงเรียนควรจะมีหน้าที่ช่วยเหลือปรับปรุงสังคม โดยการเข้ามามีส่วนร่วมโดยตรง

4. เน้นทักษะกระบวนการ (Process Skills)
การเน้นในเรื่องกระบวนการเรียนรู้และการสร้างทักษะ รวมถึงกระบวนการสอน หลักสูตรประเภทนี้ถือว่ากระบวนการเรียนรู้ เช่น กระบวนการแก้ปัญหาเป็นสิ่งที่จะกำหนดเนื้อหาวิชาที่จะนำเข้ามาสอนในหลักสูตรหรือเนื้อหาวิชาเป็นหนทางที่จะนำไปสู่การพัฒนา

กระบวนการ

5. เน้นความต้องการและความสนใจส่วนบุคคล (Individual Needs and Interests)
หลักสูตรประเภทนี้จะปรับเนื้อหาวิชาที่จะเรียนให้สอดคล้องกับความสนใจของผู้เรียนที่เรียกว่าเน้นนักเรียนเป็นศูนย์กลาง หลักสูตรจึงมีความยืดหยุ่นมากในการจัดวิชา

วันพุธที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

รูปแบบของหลักสูตร (Curriculum Design)

1.หลักสูตรแบบเน้นเนื้อหา (The Subject Matter Curriculum)
เป็นรูปแบบที่เก่าแก่ที่สุดซึ่งใช้ในการสอนศาสนา ละติน กรีก อาจเรียกชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า เป็นหลักสูตรที่เน้นเนื้อหาเป็นศูนย์กลาง (Subject-Centered-Curriculum) ซึ่งสอดคล้องกับวิธีการสอนของครูที่ใช้วิธีการ บรรยาย ปรัชญาการจัดการศึกษาแนวนี้จะยึดปรัชญาสารัตถนิยม(Essentialism)และสัจวิทยา(Perennialism)

2.หลักสูตรสหสัมพันธ์ (Correlated Curriculum)
หลักสูตรสหสัมพันธ์ คือ หลักสูตรเนื้อหาวิชาอีกรูปแบบหนึ่ง แต่เป็นหลักสูตรที่นำเอาเนื้อหาวิชาของ
วิชาต่าง ๆ ที่สอดคล้องหรือส่งเสริมซึ่งกันและกันมาเชื่อมโยงเข้าด้วยกัน แล้วจัดสอนเป็นเนื้อหาเดียวกัน
วิธีการดังกล่าวอาศัยหลักความคิดของนักการศึกษาที่ว่า การที่จะเรียนรู้สิ่งใดให้ได้ดีผู้เรียนต้องมีความสนใจเข้าใจความหมายของสิ่งที่เรียนและมองเห็นความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งที่เรียนกับสิ่งอื่นที่เกี่ยวข้อง
เพราะฉะนั้นหลักสูตรสหสัมพันธ์จะกำหนดเนื้อวิชาใดวิชาหนึ่งหรือหมวดใดหมวดหนึ่ง แล้วนำเนื้อหาสาระวิชาที่สัมพันธ์กันมารวมไว้ด้วยกัน

3.หลักสูตรแบบผสมผสาน (Fused Curriculum or Fusion Curriculum)
หลักสูตรแบบผสมผสานเป็นหลักสูตรที่พยายามปรับปรุงข้อบกพร่องของหลักสูตรเนื้อหาวิชา เพราะฉะนั้นหลักสูตรแบบผสมผสานคือหลักสูตรเนื้อหาวิชาอีกรูปแบบหนึ่ง โดยการรวมเอาวิชาย่อย ๆ ที่มีลักษณะใกล้เคียงกันมาผสมผสานกันในด้านเนื้อหาเข้าเป็นหมวดหมู่

4. หลักสูตรแบบหมวดวิชาแบบกว้าง (Broad Fields Curriculum)

หลักสูตรหมวดวิชาแบบกว้างหรือหลักสูตรรวมวิชา เป็นหลักสูตรที่พยายามจะแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดจากหลักสูตรเนื้อหาวิชา ซึ่งขาดการผสมผสานของความรู้ให้เป็นหลักสูตรที่มีการประสานสัมพันธ์ของเนื้อหาความรู้ที่กว้างยิ่งขึ้น

5. หลักสูตรเพื่อชีวิตและสังคม (Social Process and Life Function Curriculum)
หลักสูตรเพื่อชีวิตและสังคม เป็นหลักสูตรที่มุ่งแก้ไขข้อบกพร่องของหลักสูตรที่ผ่านมาด้วยการรวบรวมความรู้ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน โดยยึดกิจกรรมต่าง ๆ ของคนไทยเป็นหลัก เป็นหลักสูตรที่ถูกคาดว่ามีคุณค่ามากที่สุดสำหรับผู้เรียน การจัดหลักสูตรแบบนี้ได้ยึดเอาสังคมและชีวิตจริงของเด็กเป็นหลัก เพื่อผู้เรียนจะได้นำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ เพราะมีการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างเนื้อหาวิชาในหลักสูตรกับชีวิตจริงของผู้เรียนหรือภาวะทางสังคมที่ผู้เรียนกำลังประสบอยู่ หลักการจัดหลักสูตรประเภทนี้ ได้รับอิทธิพลมาจากความคิดของจอห์น ดิวอี้ กับปรัชญาการศึกษาสาขาพิพัฒนาการนิยม และปรัชญาการศึกษาสาขาปฏิรูปนิยม

6. หลักสูตรกิจกรรมหรือประสบการณ์ (Activity or Experience Curriculum)
หลักสูตรกิจกรรมหรือประสบการณ์เป็นหลักสูตรที่เกิดขึ้นจากความพยายามที่จะแก้ไขการเรียนรู้แบบครูเป็นผู้สอนเพียงอย่างเดียว ไม่คำนึงถึงความต้องการและความสนใจของผู้เรียนซึ่งเป็นข้อบกพร่องของหลักสูตรแบบเนื้อหาวิชา หลักสูตรแบบนี้ยึดประสบการณ์ และกิจกรรมเป็นหลักมุ่งส่งเสริมการเรียนการสอนโดยวิธีการแก้ปัญหา ผู้เรียนได้แสดงออกด้วยการลงมือกระทำ ลงมือวางแผน เพื่อหาประสบการณ์อันเกิดจากการแก้ปัญหานั้น ๆ ด้วยตนเอง ซึ่งเป็นการเรียนแบบการเรียนรู้ด้วยการกระทำ ( Learning by Doing)

7. หลักสูตรแบบแกน (Core Curriculum)

หลักสูตรแบบแกนเป็นหลักสูตรที่ประสานสัมพันธ์เนื้อหาวิชาต่าง ๆ เข้าด้วยกันมุ่งที่จะสนองความต้องการและความสนใจของผู้เรียนและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้เรียน ส่งเสริมการเรียนรู้แบบ Active Learning สิ่งที่เรียนจะมีความสัมพันธ์กับประสบการณ์และชีวิตของผู้เรียน เพื่อให้สามารถเชื่อมโยงชีวิตความเป็นอยู่มาสัมพันธ์กับการเรียนรู้ได้ เป็นหลักสูตรที่ยึดปรัชญาปฏิรูปนิยม สิ่งเหล่านี้มีอยู่แล้วในรูปแบบหลักสูตรที่ผ่านมา จึงดูเหมือนว่าหลักสูตรแบบแกนจะเป็นหลักสูตรที่รวมเอาลักษณะเด่นของหลักสูตรอื่น ๆ เข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งนักการศึกษาเชื่อว่าเป็นแบบที่ดีเหมาะสมที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับหลักสูตรต่าง ๆ ที่กล่าวมาแล้ว

8. หลักสูตรบูรณาการ (Integrated Curriculum)
หลักสูตรบูรณาการเป็นหลักสูตรที่รวมประสบการณ์การเรียนรู้ต่าง ๆ เข้าด้วยกัน ประสบการณ์ดังกล่าวเป็นประสบการณ์ที่คัดเลือกมาจากหลายสาขาวิชา แล้วจัดเป็นกลุ่มหรือหมวดหมู่ของประสบการณ์ เป็นการบูรณาการเนื้อหาเข้าด้วยกัน เพื่อช่วยให้ผู้เรียนได้รับประสบการณ์สัมพันธ์และต่อเนื่องอันมีคุณค่าต่อการดำรงชีวิต

ทฤษฎีหลักสูตร (Curriculum Theories)

จากความหมายต่าง ๆ ของหลักสูตร การวางแผนพัฒนาหลักสูตรจำเป็นต้องอาศัยความเชื่อและทฤษฎีต่าง ๆ ทางการศึกษาซึ่งมีนักการศึกษา ได้กำหนดไว้หลายแนว ดังนี้

1. หลักสูตรเป็นวิชาและเนื้อหาวิชา ผู้มองหลักสูตรในแนวนี้คือ ผู้ที่ยึดลัทธิสัจนิยม (Perennialism) และสาระนิยม (Essentialism) ตลอดจนผู้ที่ถือว่าการศึกษาคือการฝึกวินัยทางจิต (Mental Discipline) ซึ่งเห็นว่าหลักสูตรในโรงเรียนควรประกอบด้วยวิชาที่สำคัญที่จะธำรงไว้ซึ่งคุณลักษณะแห่งความเป็นมนุษย์และเป็นการฝึกสมอง เช่น วิชาที่ยาก ๆ โดยเฉพาะการศึกษาโครงสร้างของวิชาต่าง ๆ ที่จัดเป็นหมวดหมู่อย่างชัดเจน เช่น โครงสร้างของวิชาคณิตศาสตร์เป็นตรรกศาสตร์ โดยเฉพาะการหาเหตุผลแบบอนุมาน ข้อสังเกตสำหรับการกำหนดหลักสูตรในแนวนี้ คือ ไม่ได้ให้ความสนใจและความสำคัญในผู้เรียน (ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในการพัฒนาหลักสูตร)

2. หลักสูตรเป็นประสบการณ์ ยึดลัทธิก้าวหน้านิยม (Progressivism) โดยเชื่อว่าวัฒนธรรมคือ สิ่งแวดล้อมของสังคม คนจะต้องยอมรับสภาพของสังคม และปรับสภาพสังคมให้ดีขึ้น จึงยึดหลักนักเรียนเป็นศูนย์กลาง (child centered) โดยดูความสนใจของผู้เรียนเป็นหลักในการสอนและการจัดประสบการณ์ให้เขา หลักสูตรจึงหมายถึงประสบการณ์ทั้งมวลที่นักเรียนพึงจะได้รับภายใต้การนำของครู

3. หลักสูตรเป็นจุดประสงค์ ถือว่าการสอนเป็นหนทางอย่างหนึ่งที่จำนำไปสู่จุดประสงค์ที่กำหนด

4. หลักสูตรเป็นแผนการ หลักสูตรคือแผนการที่จะนำไปสู่การเรียนรู้ เป็นสิ่งที่เกิดจากความตั้งใจและคาดการณ์ไว้ล่วงหน้า โดยเพ่งเล็งไปที่จุดมุ่งหมายของการศึกษา รวมถึงการจัดวางหลักสูตรการนำหลักสูตรไปใช้ในด้านการปฏิบัติ คือ การสอน และการประเมินผลหลักสูตรเพื่อให้เหมาะกับสภาพท้องถิ่น

5. หลักสูตรเป็นระบบการผลิต มองการให้การศึกษาเช่นเดียวกับระบบการผลิตสินค้า โดยคำนึงถึงทุนที่ได้ลงไปกับผลที่ตามออกมา จึงพยายามทำหลักสูตรให้เป็นรูปธรรมมากที่สุด เช่น เขียนในรูปจุดประสงค์เชิงพฤติกรรม มีการวิเคราะห์งาน วิเคราะห์กิจกรรมดังเช่น หลักสูตรระดับมัธยมศึกษา พ.ศ. 2521

นอกจากทฤษฎีข้างต้นแล้วยังมีทฤษฎีที่สำคัญที่เป็นข้อมูลพื้นฐานในการจัดทำหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2544 และหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 ประกอบ ด้วย 5 ทฤษฎี ดังนี้

1. ทฤษฎีการเรียนรู้อย่างมีความสุข มีจุดประสงค์จะหาวิธีเรียนแบบใหม่ที่ทำให้ผู้เรียนเรียนอย่างสนุกสนานทุกครั้ง
ทุกชั่วโมง ผู้เรียนมาโรงเรียนด้วยความตื่นเต้นและมุ่งมั่น อยากรู้ในสิ่งที่เขายังไม่รู้ อยากทำในสิ่งที่เขาไม่เคยทำ อยากเป็นในสิ่งที่เขายังไม่เคยเป็น

2. ทฤษฎีการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม จุดเน้นของการเรียนเรียนรู้ คือ การให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมทางด้านจิตใจ การเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมช่วยให้ผู้เรียนได้รับประสบการณ์ที่สัมพันธ์กับชีวิตจริง ได้รับการฝึกฝนทักษะชีวิตต่างๆ การแสวงหาความรู้ การคิด การจัดการความรู้ การแสดงออก การสร้างความรู้ใหม่ และการทำงานกลุ่ม ซึ่งจะทำให้ผู้เรียนได้รับการพัฒนาให้เป็นทั้งคนเก่ง คนดี และมีความสุข

3. ทฤษฎีการเรียนรู้เพื่อพัฒนากระบวนการคิด มีจุดประสงค์ให้เป็นแนวทางสำหรับครูนำไปใช้ฝึกผู้เรียนให้เกิดการพัฒนาคุณภาพในการคิด แบ่งทักษะการคิดออกเป็น 2 ระดับ คือ ทักษะการคิดขั้นพื้นฐานและทักษะการคิดขั้นสูง

4. ทฤษฎีการเรียนรู้เพื่อพัฒนาสุนทรียภาพและลักษณะนิสัย : ศิลปะ ดนตรี กีฬา เพื่อเป็นแนวทางจัดการเรียนการสอนวิชาศิลป ดนตรี และพลศึกษาแก่ครู ซึ่งเน้นการพัฒนาผู้เรียนให้เป็นคนที่สมบูรณ์ทุกด้าน

5. ทฤษฎีการเรียนรู้เพื่อพัฒนาสุนทรียภาพและลักษณะนิสัย: การฝึกฝน กาย วาจา ใจ เพื่อพัฒนาลักษณะนิสัยเด็กไทย คือ มีมรรยาทและวิถีแห่งการปฏิบัติตนทางกาย วาจา ใจ มีสติสัมปชัญญะเพื่อการครองตน ไม่ถลำไปสู่ความชั่ว มีคุณธรรม มีความรักในเพื่อมนุษย์และธรรมชาติ การสร้างลักษณะนิสัยดังกล่าวต้องใช้กลยุทธ์การสอน

วันจันทร์ที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

องค์ประกอบของหลักสูตร (Curriculum Component)

องค์ประกอบของหลักสูตรทำให้ผู้ใช้หลักสูตรทราบแนวทางในการนำหลักสูตรไปใช้ได้อย่างสอดคล้องและเหมาะสมกับเจตนารมณ์ของหลักสูตร พอสรุปจากแนวคิดเกี่ยวกับองค์ประกอบของหลักสูตร ดังนี้

1. จุดมุ่งหมายของหลักสูตร (Curriculum Aims)
หมายถึง ความตั้งใจหรือความคาดหวังที่ต้องการให้เกิดขึ้นในตัวผู้ที่จะผ่านหลักสูตร

จุดมุ่งหมายของหลักสูตรมีความสำคัญเพราะเป็นตัวกำหนดทิศทางและขอบเขตใน
การให้การศึกษาแก่ผู้เรียน

2. เนื้อหา (Content)
หมายถึง เนื้อหาประสบการณ์การเรียนรู้ต่าง ๆ ที่คาดว่าจะช่วยให้ผู้เรียนพัฒนา

ไปสู่จุดมุ่งหมายที่กำหนดไว้ โดยดำเนินการตั้งแต่การเลือกเนื้อหาและประสบการณ์
การเรียงลำดับเนื้อหาสาระ พร้อมทั้งการกำหนดเวลาเรียนที่เหมะสม

3. การนำหลักสูตรไปใช้ (Curriculum Implementation)
หมายถึง การนำหลักสูตรไปสู่การปฏิวัติ ซึ่งประกอบด้วยกิจกรรมต่าง ๆ

(การจัดทำวัสดุหลักสูตร ได้แก่ คู่มือครู เอกสารหลักสูตร แผนการสอน และแบบเรียน ฯลฯ)
, การจัดเตรียมความพร้อมด้านบุคลากรและสิ่งแวดล้อม (การจัดโต๊ะเก้าอี้ ห้องเรียน
วัสดุอุปกรณ์ในการเรียน จำนวนครูและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ), การดำเนินการสอน

4. การประเมินผลหลักสูตร (Evaluation)
หมายถึง การหาคำตอบว่า หลักสูตรสัมฤทธิผลตามที่กำหนดไว้ในจุดมุ่งหมายหรือ

ไม่มากน้อยเพียงใดและอะไรเป็นสาเหตุ

ลักษณะของหลักสูตรที่ดี
1. ตรงตามความมุ่งหมายของการศึกษา
2. ตรงตามลักษณะของพัฒนาการของเด็กในวัยต่างๆ
3. ตรงตามลักษณะวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีและเอกลักษณ์ของชาติ
4. มีเนื้อหาสาระของเรื่องสอนบริบูรณ์เพียงพอที่จะช่วยให้นักเรียนคิดเป็น ทำเป็นและมีพัฒนาการในทุกด้าน
5. สอดคล้องกับชีวิตประจำวันของผู้เรียน
6. หลักสูตรที่ดี ควรสำเร็จขึ้นด้วยความร่วมมือของทุกฝ่าย
7. หลักสูตรที่ดี จะต้องยืดหยุ่นได้ตามความเหมาะสมกับสภาพการณ์ต่าง ๆ
8. หลักสูตรที่ดีจะต้องให้นักเรียนได้เรียนรู้ต่อเนื่องกันไป และเรียงจากความยากง่ายไม่ให้ขาดตอนจากกัน
9. หลักสูตรที่ดีจะต้องเป็นประสบการณ์ที่เกี่ยวกับชีวิตประจำวันของเด็ก
10. ต้องเพิ่มพูนและส่งเสริมทักษะเบื้องต้นที่จำเป็นของเด็ก
11. หลักสูตรที่ดีย่อมส่งเสริมให้เด็กเกิดความรู้ ทักษะ เจตคติ ความคิดริเริ่ม มีความคิดสร้างสรรค์ในการดำเนินชีวิต
12. หลักสูตรที่ดีจะต้องส่งเสริมให้เด็กทำงานอิสระและทำงานร่วมกันเป็นหมู่คณะ
13. หลักสูตรที่ดีย่อมบอกแนวทาง วิธีสอน และอุปกรณ์สื่อการสอนประกอบเนื้อหาสาระที่จะสอนไว้อย่างเหมาะสม
14. หลักสูตรที่ดีย่อมมีการประเมินผลอยู่ตลอดเวลา
15. หลักสูตรที่ดีจะต้องจัดประสบการณ์ให้เด็กเกิดความรู้ ความเข้าใจ และมีโอกาสแก้ปัญหาต่าง ๆ
16. หลักสูตรที่ดี ต้องส่งเสริมให้เด็กรู้จักแก้ปัญหา
17. หลักสูตรที่ดี ต้องจัดประสบการณ์ที่มีความหมายต่อชีวิตของเด็ก
18. หลักสูตรที่ดีต้องจัดประสบการณ์และกิจกรรมหลายๆ อย่าง
19. หลักสูตรที่ดีจะต้องวางกฎเกณฑ์ไว้อย่างเหมาะสมแก่การนำไปปฏิบัติและสะดวกแก่การวัดและประเมินผล

วันอาทิตย์ที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ความหมายของหลักสูตร (Conception of Curriculum)

คำว่า “หลักสูตร” แปลมาจากคำในภาษาอังกฤษว่า “curriculum” ซึ่งมีรากศัพท์มาจากภาษาลาตินว่า “currere” หมายถึง “running course” หรือ เส้นทางที่ใช้วิ่งแข่ง ต่อมาได้นำศัพท์นี้มาใช้ในทางการศึกษาว่า “running sequence of course or learning experience” (Armstrong, 1989 : 2) การที่เปรียบเทียบหลักสูตรเสมือนสนามหรือลู่วิ่งให้ผู้เรียนจะต้องฟันฝ่าความยากของวิชา หรือประสบการณ์การเรียนรู้ต่าง ๆ ที่กำหนดไว้ในหลักสูตรเพื่อความสำเร็จ

นักการศึกษาหลายท่านได้ให้ความหมายของคำว่า "หลักสูตร" ด้วยอักษรย่อ SOPEA

ซึ่งหมายถึง
S (Curriculum as Subjects and Subject Matter)

หลักสูตร คือ รายวิชาหรือเนื้อหาวิชาที่เรียน
O (Curriculum as Objectives)

หลักสูตร คือ จุดหมายที่ผู้เรียนพึงบรรลุ
P (Curriculum as Plans)

หลักสูตร คือ แผนสำหรับจัดโอกาสการเรียนรู้หรือประสบการณ์แก่นักเรียน
E (Curriculum as Learners, Experiences)

หลักสูตร คือ ประสบการณ์ทั้งปวงของผู้เรียนที่จัดโดยโรงเรียน
A (Curriculum as Educational Activities)

หลักสูตร คือ กิจกรรมทางการศึกษาที่จัดให้กับนักเรียน


กล่าวโดยสรุป
หลักสูตรในความหมายเดิม จะหมายถึง รายวิชาต่าง ๆ ที่นักเรียนจะต้องเรียน
ส่วนความหมายใหม่ จะหมายถึง มวลประสบการณ์ทั้งหมดที่นักเรียนจะได้ภายใต้

คำแนะนำ และความรับผิดชอบของโรงเรียน

หากจะสรุปความหมายของหลักสูตรจากนักการศึกษาหลายท่านพอจะสรุปได้ดังนี้
1. หลักสูตรในฐานะที่เป็นวิชาเนื้อหาสาระที่จัดให้แก่ผู้เรียน
2. หลักสูตรในฐานะที่เป็นเอกสารหลักสูตร
3. หลักสูตรในฐานะที่เป็นกิจกรรมต่าง ๆ ที่จะให้แก่นักเรียน
4. หลักสูตรในฐานะแผนสำหรับจัดโอกาสการเรียนรู้หรือประสบการณ์ที่

คาดหวังแก่นักเรียน
5. หลักสูตรในฐานะที่มวลประสบการณ์
6. หลักสูตรในฐานะที่เป็นจุดหมายปลายทาง
7. หลักสูตรในฐานะที่เป็นระบบการเรียนการสอนและกิจกรรมการเรียนการสอน

นอกจากนั้นยังมีคำที่มีความหมายใกล้เคียงกับหลักสูตรอีก เป็นต้นว่า
1. โปรแกรมการเรียน (A Program of Studies) คำนี้ใช้แทนความหมาย

ของหลักสูตร ซึ่งคนทั่ว ๆไปใช้ คล้ายกับรายการเรียงลำดับรายวิชา
ปัจจุบันยังมีการใช้คำนี้ในการ จัดการศึกษาอุดมศึกษาโดยการจัดลำดับรายวิชา
2. เอกสารการเรียน (A Docment) เป็นการให้ความหมายของหลักสูตร

ตามจุดมุ่งหมายที่ จะให้ศึกษา เพื่อเสนอต่อผู้มาติดต่อที่สถานศึกษา
3. แผนการจัดกิจกรรม (Planned Experiences) หมายถึง กิจกรรมทั้งมวล

ที่โรงเรียน จัดให้นักเรียนและการวางแผนหลักสูตรเป็นการเตรียมการให้โอกาสกับผู้เรียน
4. หลักสูตรแฝง (Hidden Curriculum) หมายถึง หลักสูตรที่ไม่ได้มีการกำหนด

ไว้ล่วงหน้า

หลักสูตรถือว่ามีบทบาทสำคัญในการจัดการศึกษาทุกระดับ หลักสูตรระบุสิ่งที่คาดหวัง

ให้เกิดขึ้นกับผู้เรียนและแนวทางจัดให้ผู้เรียนได้รับประสบการณ์ หลักสูตรเปรียบเสมือน
พิมพ์เขียวในการสร้างบ้าน ส่วนการสอนเป็นกระบวนการหรือวิธีการ หลักสูตรจะระบุ
สิ่งที่จะสอนในโรงเรียนระบุสิ่งที่ผู้เรียนควรจะเรียนรู้ (เนื้อหา)










วันอังคารที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ยินดีต้อนรับ

สวัสดีครับ...
ยินดีต้อนรับท่านเข้าสู่แหล่งเรียนรู้แห่งใหม่ที่รวบรวมความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับ"หลักสูตร" (Curriculum) อ่านตามพจนานุกรมภาษาอังกฤษว่า "คะริค เคียเลิม" ประกอบไปด้วย

1. ความหมายของหลักสูตร (Conception of Curriculum)

2. องค์ประกอบของหลักสูตร (Curriculum Component)

3. ทฏษฎีเกี่ยวกับหลักสูตร (Curriculum Theory)

4. ประเภทหรือรูปแบบของหลักสูตร (Curriculum Design)

5. กิจกรรมของหลักสูตรประเภทต่าง ๆ (Curriculum Activity)

6. เปรียบเทียบความเหมือนและแตกต่างของหลักสูตร (Curriculum Comparison)

ซึ่งได้ศึกษา ค้นคว้าและรวบรวมจากหนังสือหลาย ๆ เล่ม อาทิเช่น
การจัดทำหลักสูตรสถานศึกษา ตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน 2544 ,
หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ,
การพัฒนาหลักสูตรตามแนวปฏิรูปการศึกษา เป็นต้น

นำเสนอความรู้นี้โดยคณะนักศึกษากลุ่มที่ 4 วิชาเอก คณิตศาสตร์ศึกษา

(วท.ม.ค.ศ.4) ประกอบด้วย

นายแดน คลังทอง (พี่แดน) เลขที่ 1
นางสาวกฤติยาณี สุจริต (หนูณี) เลขที่ 5
นางสาววรรณธนากร อังฉะกรรณ์ (หนูวรรณ) เลขที่ 13

เพื่อใช้ประกอบการเรียนในวิชา คณิตศาสตรศึกษา (4095601)
โดย รองศาสตราจารย์พีระพล ศิริวงศ์ (ผู้สอน)